Election Commission of Thailand

อำนาจหน้าที่ของ กกต.

อำนาจหน้าที่ของ กกต.

08 กุมภาพันธ์ 2567

395/

0

อำนาจหน้าที่ของ กกต.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

กกต. มีอำนาจหน้าที่อยู่ 3 ประการที่ครอบคลุมทั้ง

      1. จัดการเลือกตั้ง คือ การควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ

      2. สืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัย คือ การสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครและสมาชิกสภาที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

      3. ออกกฎระเบียบ คือ การออกกฎระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน

หมวด 12 องค์กรอิสระ ส่วนที่ 2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง และตามมาตรา 22 23 24 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 วางหลักไว้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

     1. ควบคุมดูแลและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

     2. ออกระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนดทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติงาน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียง ประชามติ และกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

     3. มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการเลือกตั้ง

     4. ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองตามกฎหมาย

     5. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

     6. สืบสวนหรือไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

     7. สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง การเลือก การออกเสียงประชามติ และสั่งให้มีการเลือกตั้ง เลือก ออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง

     8. เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้นั้นกระทำหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

     9. การดำเนินคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง

     10. ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ

     11. มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลไม่ว่าในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนให้ชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่แก่ผู้ถูกใบแดง และผู้ที่เกี่ยวข้อง

     12. ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งและความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

     13. การรับรองและการแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง

     14. ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยงานราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุว่าหน้าที่ของ กกต. คือการให้การศึกษาแก่ประชาชน เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

     15. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา

     16. ดำเนินการเรื่องอื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด

Icon
หมวดหมู่ทั้งหมด

รายการ

อำนาจหน้าที่ของ กกต.

1