Election Commission of Thailand

ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ กกต.

14 กุมภาพันธ์ 2568

2119/

0

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการปกครองและบริหารงานในระดับท้องถิ่น โดยมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลส่วนภูมิภาคในระดับหนึ่ง องค์กรเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลและพัฒนาท้องถิ่นของตนเองตามกฎหมายกำหนด ภายใต้หลักการปกครองตนเองของประชาชนในพื้นที่

ประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย

  1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) – ดูแลและพัฒนาท้องถิ่นในระดับจังหวัด
  2. เทศบาล – แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
    • เทศบาลนคร (ขนาดใหญ่)
    • เทศบาลเมือง (ขนาดกลาง)
    • เทศบาลตำบล (ขนาดเล็ก)
  3. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) – บริหารงานในระดับตำบล
  4. เมืองพัทยา – มีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
  5. กรุงเทพมหานคร – มีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

หน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางระบายน้ำ และระบบไฟฟ้า
  • การจัดบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การเก็บขยะ และการดูแลสิ่งแวดล้อม
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
  • การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรเทาสาธารณภัย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารโดย สภาท้องถิ่น และ ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานของท้องถิ่นตนเอง
ผู้แทนในระดับท้องถิ่นมีใครบ้าง

ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละแห่งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ
  1. ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกกฎหมายท้องถิ่นและตรวจสอบการบริหารงานของท้องถิ่น ได้แก่
    1. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.)
    2. สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.)
    3. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.จ.)
    4. สมาชิกสภาเมืองพัทยา
    5. สมาชิกสภากรุงเทพมหายคร (ส.ก.)
  2. ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ในการควบคุมและบริหารกิจการของท้องถิ่นได้แก่
    1. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
    2. นายกเทศมนตรี
    3. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
    4. นายกเมืองพัทยา
    5. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ทำไมต้องไปเลือกผู้แทนท้องถิ่น

การเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้มีตัวแทนไปทำหน้าสำคัญแทนพวกเรา เช่น ปกป้องผลประโยชน์ และดูทุกข์สุกของประชาชนในท้องถิ่น ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งหากไม่มีผู้แทนก็จะไม่มีผู้นำเสนอปัญหาเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไข

การปกครองท้องถิ่นสำคัญอย่างไร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การบริการแก่ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น
  1. ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี
  2. ด้านสาธารณูปโภค
  3. ด้านปกป้องและบรรเทาสาธารณภัย โรคติดต่อ
  4. ส่งเสริมพัฒนา สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 
ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  4. และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

ID-Card 

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)

บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
- บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ใบขับขี่
- หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ฯลฯ

  • เปิดผ่านแอปพลิเคชั่น แสดงหลักฐานแบบออนไลน์ ใช้ได้ 2 แอปพลิเคชั่น คือ

         - ThaID บัตรประชาชนดิจืทัล
         - DLT QR Licence ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

ตรวจสอบรายชื่อจากเว็บไซต์ >>> https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection-local/

2. การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

 

  การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้  

cant-vote
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือผ่านช่องทางออนไลน์ >>> https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/abscauselocal/

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.) หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.)
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
    การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

vote_right 

การอำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการลงคะแนนเลือกตั้ง
กกต.ได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของ กปน.

ในการช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือ กปน. เป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

voting 

 

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

  1. ตรวจสอบรายชื่อ
    ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
  2. ยื่นหลักฐานแสดงตน
    แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
  3. รับบัตรเลือกตั้ง
    ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  4. ทำเครื่องหมายกากบาท
    เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
    - บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
    - บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่
       แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
    หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง
  5. หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง
    นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

 

เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง
ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.

 

  ลักษณะของคนที่ควรเลือกเป็นผู้แทน  

good-candidate 

  • เป็นคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น รับรู้ปัญหาของท้องถิ่น
  • มีคุณธรรม มีความเสียสละ
  • มีการหาเสียงอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ทำผิดกฎหมาย
  • เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และนำมาแก้ไข เสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และท้องถิ่นนั้น ๆ
  • รับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหา เพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น
  • เป็นแบบอย่างที่ดีของการรู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวม
  • มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตย

 

การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น
ห้ามมิให้

  • ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง พยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนน
  • ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับจาก กปน. ชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
  • ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง
  • ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
  • ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
  • ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
  • ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง
  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใดหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
  • ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งหรือเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
  • ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

dont-s