การมีส่วนร่วม คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะของการร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ในสิ่งที่มีผลกระทบต่อตนเองหรือชุมชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 78 กำหนดให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนดังนี้
1.มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์ทรงเป็นประมุข
2.มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และการจัดบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
3.มีส่วนร่วมในในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมืองและการ
อื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน
และมาตรา 133(3) มาตรา 236 และมาตรา 256(1) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้อำนาจแก่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยหรือหมวด 5 หน้าที่รัฐ ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานพอสมควรเพื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคน ที่มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ เพื่อไปทำหน้าที่คัดเลือกตัวแทนของตนเข้าไปออกกฎหมายและเข้าไปบริหารประเทศ ดังนั้น ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งได้ดังนี้
- สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- สอดส่องดูแลการเลือกตั้ง แจ้งเหตุหรือเบาะแสการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง
- ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียง
- ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งโดยเป็นสมาชิกหรืออาสาสมัครขององค์การเอกชนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองให้ตรวจสอบการเลือกตั้ง
- ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งในระดับต่างๆ เช่น กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการนับคะแนน กรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง สามารถจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้
- กิจกรรมการมีส่วนร่วมก่อนการเลือกตั้ง
- ตรวจบัญชีรายชื่อว่าตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
- ตรวจสอบพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง
- ร่วมรณรงค์เลือกตั้ง
- ฟังการปราศรัยนโยบายของผู้สมัครและพรรคการเมือง
- สอดส่องดูแลพฤติกรรมที่มิชอบ
- ศึกษาประวัติผู้สมัคร
- ให้การศึกษาแก่ประชาชน
- การต่อรองนโยบายของพรรคการเมือง
- กิจกรรมการมีส่วนร่วมระหว่างการเลือกตั้ง
- สังเกตการณ์การซื้อเสียง
- ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
- ติดตามการนับคะแนน
- ร่วมเป็นคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
- แจ้งเหตุหากพบเหตุการณ์ผิดปกติ
- ชักชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
- ไม่รับเงินซื้อเสียง
- ตรวจสอบดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกติกา
- กิจกรรมการมีส่วนร่วมหลังการเลือกตั้ง
- ติดตามผลการเลือกตั้ง
- ติดตามผลการใช้สิทธิเลือกตั้ง
- ติดตามการจัดตั้งรัฐบาล
- ติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้แทนที่เราเลือก
- แสดงพลังกลุ่มถอดถอนนักการเมือง ถ้าพบว่ามีการกระทำโดยมิชอบ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
การมีส่วนร่วมในรูปแบบของกลุ่มผลประโยชน์
การรวมตัวกันของบุคคลเป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์กรในสังคม มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น โดยไม่มีเป้าหมายที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศแต่อย่างใด สำหรับเป้าหมายของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันไป บางกลุ่มอาจเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสิ่งที่กลุ่มตนต้องการ เช่น การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ราคาพืชผลการเกษตร หรือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มของตน หรืออาจเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำนโยบายหรือโครงการที่กลุ่มตนจะได้เป็นโยชน์ เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในรูปแบบของพรรคการเมือง
การรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความเชื่อทางการเมืองคล้ายคลึงกัน มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อไปทำหน้าที่ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ อย่างไรก็ตามการเข้ามารวมตัวกันในรูปแบบพรรคการเมืองยังมีเป้าหมายอื่นอีกเช่น การให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน การดูแลและรักษาผลประโยชน์ของส่วนร่วม การสร้างผู้นำทางการเมือง การควบคุมและติดตามตรวจสอบทางการเมือง ฯลฯ ในส่วนของประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองได้ เช่น การสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมของพรรคการเมือง การช่วยรณรงค์หาเสียงในช่วงที่มีการเลือกตั้ง เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในรูปแบบของการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมที่สำคัญของการบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ควรตระหนักคือ จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากไม่ได้หมายความถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ หากแต่การใช้สิทธิเลือกตั้งในรูปแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องมีลักษณะดังนี้
- การใช้สิทธิโดยอิสระ คือ การใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องเกิดจากความสมัครใจ ไม่ได้เกิดมาจากการบังคับหรือข่มขู่หรือสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
- การเลือกตั้งโดยลับ การออกเสียงต้องกระทำแต่เพียงลำพัง โดยไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมด้วย หรือสามารถล่วงรู้ได้ว่าผู้มีสิทธิเลือกผู้สมัครคนใดหรือออกเสียงอย่างไร การออกเสียงเลือกตั้งของบุคคล ไม่สามารถประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปได้
- ความเสมอภาคในการเลือกตั้ง บุคคลแต่ละคนมีสิทธิออกเสียงได้คนละหนึ่งเสียงเท่านั้น
- ความเป็นกลาง บุคคลที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับในการเลือกตั้งทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การมีส่วนร่วมในรูปแบบของการแสดงออก
บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเขียน การพูด การโฆษณา การพิมพ์ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบของการวิพากษ์ วิจารณ์ตามสื่อต่าง ๆ รัฐบาลต้องไม่ขัดขวางหรือห้ามปรามการแสดงออกของประชาชน รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นก่อนลงมือดำเนินการทำกิจการใดที่มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชน รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
การมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องตระหนักว่า ตนเป็นเจ้าของประเทศและต้องเข้าไปรับผิดชอบในกิจการของบ้านเมืองในทุกโอกาสที่สามารถกระทำได้ ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย และควรส่งเสริมคนดีให้เข้ามาบริหารบ้านเมือง
แนวทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
- สนใจ ติดตามข่าวสารด้านการเมือง
- ติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง
- สนับสนุนผู้สมัครและนักการเมืองที่ดี
- ต่อต้านนักการเมืองที่ไม่ดี
- ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี
- คัดค้านนโยบายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม
- ศึกษาข้อเท็จจริงให้ถี่ถ้วน
- เสนอปัญหาให้หน่วยงานแก้ไข
- ชุมนุมคัดค้านโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
- ปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนมิให้ถูกละเมิด
- เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองที่ถูกต้อง
ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
- การติดตามข่าวสารบ้านเมือง
- การใช้สิทธิเลือกตั้ง
- ริเริ่มพูดคุยประเด็นการเมือง
- ชักจูง รณรงค์ให้ผู้อื่นสนับสนุนบุคคลและพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน
- เสนอแนวคิด นโยบายต่อนักการเมืองและผู้นำทางการเมือง
- บริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง
- ร่วมประชุมรณรงค์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
- เป็นสมาชิกระดับแกนนำพรรคการเมือง
- ร่วมระดมทุน
- เสนอตัวเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
- ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
บันไดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
- บันไดขั้นที่ 1 สนใจติดตามข่าวสารและกิจกรรมทางการเมือง
- บันไดขั้นที่ 2 เริ่มพูดคุยประเด็นทางการเมือง
- บันไดขั้นที่ 3 ศึกษานโยบายของผู้สมัครและพรรคการเมือง
- บันไดขั้นที่ 4 แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องทางการเมืองและการเลือกตั้งร่วมกับผู้อื่น
- บันไดขั้นที่ 5 เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งในชุมชน
- บันไดขั้นที่ 6 จัดกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้งในชุมชน
- บันไดขั้นที่ 7 รณรงค์สนับสนุนบุคคลและพรรคที่ตนนิยม
- บันไดขั้นที่ 8 เป็นอาสาสมัครสอดส่องและช่วยเหลือการเลือกตั้ง
- บันไดขั้นที่ 9 ตัดสินใจเลือกตั้งตัวแทนอย่างรู้เท่านั้น
- บันไดขั้นที่ 10 ติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง พรรคการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
การตรวจสอบการเลือกตั้ง
องค์การเอกชน หมายความว่า ชมรม หรือกลุ่มบุคคล สมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งก่อตั้งโดยเอกชนเพื่อดำเนินกิจการอันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันโดยมิใช่เป็นการแสวงหากำไร รายได้ หรือผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน มีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
องค์การเอกชนที่มีความประสงค์จะช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือการช่วยเหลือในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และต้องดำเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อสาธารณประโยชน์มาเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
การยื่นคำขอรับรององค์การเอกชน จะต้องยื่นคำขอต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การเอกชนนั้นตั้งอยู่
ทะเบียนองค์การเอกชนที่ได้รับการรับรอง
- ทะเบียนองค์การเอกชนฯ ประจำปี 2553 ดูรายละเอียด
- ทะเบียนองค์การเอกชนฯ ประจำปี 2554 ดูรายละเอียด
- ทะเบียนองค์การเอกชนฯ ประจำปี 2555 ดูรายละเอียด
เอกสารประกอบการยื่นคำขอรับรององค์การเอกชน
- การยื่นคำขอขององค์การเอกชนที่เป็นนิติบุคคล ต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- หนังสือรับรอง หรือหนังสือสำคัญแสดงความเป็นนิติบุคคล
- ตราสารหรือข้อบังคับ หรือระเบียบขององค์การเอกชน
- บัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนหรือผู้บริหารขององค์การเอกชน ที่อยู่ พร้อมทั้งประวัติของบุคคลดังกล่าว
- รายงานผลการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ในรอบปีที่ผ่านมา
- รายงานทางการเงินในรอบปีที่ผ่านมา
- รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การเอกชนหรือบันทึกข้อตกลงของผู้บริหารองค์การเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะขอรับการรับรอง
- การยื่นคำขอขององค์การเอกชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล ต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- ตราสาร หรือข้อบังคับ หรือระเบียบขององค์การเอกชน
- บัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารขององค์การเอกชน ที่อยู่พร้อมทั้งประวัติของบุคคล
- รายงานผลการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ขององค์การเอกชนในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งประธานกรรมการหรือหัวหน้าผู้บริหารองค์การเอกชนให้คำรับรอง
- รายงานทางการเงินในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งประธานกรรมการหรือหัวหน้าผู้บริหารองค์การเอกชนให้คำรับรอง
- รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การเอกชนหรือบันทึกข้อตกลงของผู้บริหารองค์การเอกชนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะขอรับการรับรอง
- หมายเหตุ
- หนังสือรับรององค์การเอกชนที่เป็นนิติบุคคลให้มีอายุคราวละสี่ปี
- หนังสือรับรององค์การเอกชนที่ไม่เป็นนิติบุคคลให้มีอายุคราวละสองปี
องค์กรเอกชนกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง
องค์การเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ 3 วิธี คือ
- การให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ การอบรมให้ความรู้ การจัดประชุมสัมมนาการจัดเวทีเสวนา การรณรงค์เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเมืองการปกครอง รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง การปกครองท้องถิ่น แก่ประชาชนโดยทั่วไป
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดย การส่งเสริมให้ประชาชนจัดกิจกรรม จัดตั้งกลุ่ม องค์กร เครือข่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- การช่วยเหลือตรวจสอบการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ได้แก่
- การรับแจ้งเหตุ เป็นการรับแจ้งเหตุการณ์จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร พรรคการเมือง อาสาสมัคร หรือบุคคลใด ในเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สมัคร พรรคการเมือง อาสาสมัครหรือบุคคลใด กระทำการอันอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๕ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การสำรวจค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคนที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่ละพรรคที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- การสอดส่องและสังเกตการณ์เพื่อป้องกันการทุจริต เป็นการสอดส่องเพื่อป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้ง การสังเกตการณ์การหาเสียง ของผู้สมัครพรรคการเมือง หรือบุคคลใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี การสอดส่องเพื่อป้องกันการทุจริตการลงคะแนน การนับคะแนน และการประกาศผลการนับคะแนน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี
สรุปข้อมูลเกี่ยวกับองค์การเอกชนและการอนุมัติโครงการการช่วยเหลือตรวจสอบการเลือกตั้ง ส.ส.
- การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554
เอกสารอ้างอิง
- เอกสารประกอบการชี้แจงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานขององค์การเอกชน
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านบทบาทการมีส่วนร่วม
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ในการส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการท้องถิ่น หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการช่วยเหลือในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่ในการเผยแพร่วิชาการ ให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชนรวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ด้านกิจการการมีส่วนร่วม
มีอำนาจหน้าที่ให้การศึกษาเรียนรู้การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ทางการเมืองและการเลือกตั้งแก่ประชาชน รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชน คณะบุคคล องค์การเอกชน และประชาคมจังหวัด มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาทางการเมืองและการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบ่งส่วนงานออกเป็น
สำนักการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ
- การให้การศึกษาเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมความรู้และทักษะแก่ประชาชน ให้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองและการเลือกตั้ง
- การรับรองและแต่งตั้งผู้แทนองค์การเอกชนทำหน้าที่ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
สำนักรณรงค์และเผยแพร่ มีหน้าที่ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
- การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง
- การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ผ่านสื่อรณรงค์ กิจกรรมรูปแบบต่างๆ
Link หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ด้านกิจการการมีส่วนร่วม คลิ๊กที่นี่
- สำนักการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง คลิ๊กที่นี่
- สำนักรณรงค์และเผยแพร่ คลิ๊กที่นี่