Election Commission of Thailand

การเลือกตั้งท้องถิ่น

องค์ความรู้การเลือกตั้ง
16 ตุลาคม 2563
184415
6
ผู้แทนในระดับท้องถิ่นมีใครบ้าง

ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละแห่งที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ
  1. ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกกฎหมายท้องถิ่นและตรวจสอบการบริหารงานของท้องถิ่น ได้แก่
    1. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.)
    2. สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.)
    3. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.จ.)
    4. สมาชิกสภาเมืองพัทยา
    5. สมาชิกสภากรุงเทพมหายคร (ส.ก.)
  2. ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ในการควบคุมและบริหารกิจการของท้องถิ่นได้แก่
    1. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
    2. นายกเทศมนตรี
    3. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
    4. นายกเมืองพัทยา
    5. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ทำไมต้องไปเลือกผู้แทนท้องถิ่น

การเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้มีตัวแทนไปทำหน้าสำคัญแทนพวกเรา เช่น ปกป้องผลประโยชน์ และดูทุกข์สุกของประชาชนในท้องถิ่น ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งหากไม่มีผู้แทนก็จะไม่มีผู้นำเสนอปัญหาเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไข

การปกครองท้องถิ่นสำคัญอย่างไร

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การบริการแก่ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น
  1. ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี
  2. ด้านสาธารณูปโภค
  3. ด้านปกป้องและบรรเทาสาธารณภัย โรคติดต่อ
  4. ส่งเสริมพัฒนา สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้
  1. มีสัญชาติไทย ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เช่น ถ้าเราอาศัยอยู่ใน อบต. ก็เลือกนายก อบต. กับ ส.อบต. เช่นกัน ถ้าอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ก็เลือก นายกเทศมนตรี กับ ส.ท. เป็นต้น
เตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างไร

การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับต้อง เตรียมพร้อม เหมือนกันดังนี้
  1. 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่ที่ว่าการอำเภอที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เขตชุมชนหรือที่เลือกตั้ง
  2. 15 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง เจ้าบ้านจะได้รับหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลและที่เลือกตั้ง
  3. 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเองหรือมีชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มขึ้น-ถอนชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น
หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง
  1. บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  2. บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น
    1. บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    2. ใบขับขี่
    3. หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ผู้แทนท้องถิ่นควรมีลักษณะอย่างไร
  1. เป็นคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น รับรู้ปัญหาของท้องถิ่น
  2. มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว
  3. มีการหาเสียงอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ผิดกฎหมาย
  4. เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไขโดยเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและปฏิบัติได้จริง
  5. เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนา
  6. เป็นแบบอย่างของการรู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวม
  7. มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตย
  8. ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของ
อย่าเลือกคนทุจริต อย่าคิดขายเสียง

เมื่อท่านมีโอกาสไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วไม่ควรเลือกผู้สมัครที่โกงการเลือกตั้งเป็นผู้แทนท้องถิ่นในทุกระดับเพราะผู้สมัครที่โกงการเลือกตั้งโดยใช้เงินซื้อเสียงหัวละไม่กี่ร้อยบาท เมื่อได้เข้าไปบริหารเงินงบประมาณของท้องถิ่น ซึ่งมาจากภาษีของเราเองแล้วไปถอนทุนคืนทำให้พวกเราได้รับประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นไม่เต็มที่ เช่น ถนน สะพาน ใช้ได้ไม่นานก็ชำรุดเสียหาย

ดังนั้น พวกเราต้องไปเลือกตั้งด้วยใจบริสุทธิด้วยการไม่รับเงินซื้อเสียงหรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้สมัคร แต่เลือกผู้แทนที่ดีไปบริหารงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะดีกว่า

การทุจริตเลือกตั้งส่งผลเสียหายต่อท้องถิ่นอย่างไร
  1. ท้องถิ่นสูญเสียงบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีของพวกเราในการจัดการเลือกตั้งใหม่
  2. ผู้แทนที่เลือกเข้าไปจะโกงเงินภาษี ทำให้ท้องถิ่นไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
ดังนั้น เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตังไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินสิ่งของ หรือมีการเลือกรับเงินหรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่ กกต.จังหวัด กกต.ท้องถิ่น หรือแจ้งให้กกต.ส่วนกลาง สายด่วน 1171 ทราบ

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง หรือ ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ขอรับแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 31 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านโดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น
  1. ด้วยตนเอง หรือ
  2. มอบหมายผู้อื่น หรือ
  3. ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
ไม่ได้ไปเลือกตั้งท้องถิ่น เสียสิทธิอะไรบ้าง

ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุอันสมควร จะเสียสิทธิ 6 ประการ ดังนี้
  1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
  2. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  3. สิทธิสมัครรับเลือกตังเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
  4. สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  5. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
  6. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
การมีส่วนร่วมทางการเมืองระหว่างการเลือกตั้ง

ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งเรามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เช่น
  1. ติดตามการโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
  2. สังเกตการณ์ทำหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เช่น เปิดหีบบัตรตรงเวลาหรือมีบัตรอยู่ในหีบก่อนเปิดหีบหรือไม่
  3. เฝ้าติดตามการนับคะแนนว่ากรรมการมีการอ่านคะแนนถูกต้องหรือไม่ ฯลฯ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

แม้การเลือกตังเสร็จสิ้นไปแล้วแต่ท่านยังสามรถตรวจสอบการทำงานของผู้แทนในระดับท้องถิ่นได้ ดังนี้
  1. มีส่วนร่วมในการบริหาร เช่น การเข้ารับฟังการประชุมของสภาท้องถิ่นหรือติดตามประกาศต่างๆของท้องถิ่น รวมทั้งให้ความคิดเห็นในการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น
  2. มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น ติดตามและตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารท้องถิ่นหรือการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาท้องถิ่น
  3. การมีส่วนร่วมทางด้านกฎหมาย เช่น การเข้าชื่อเสนอร่างข้อบัญญัติ หรือแสดงความคิดเห็นเสนอแนะต่อสภาท้องถิ่น